วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หอมหัวใหญ่

หอมหัวใหญ่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ลดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ มีฤทธิ์มากในการขับสารพิษทั้งที่เป็นโลหะหนักและพยาธิ  หอมหัวใหญ่ (Allium cepa) เป็นพืชในตระกูลเดียวกับกระเทียม อุดมไปด้วยธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน ซีลีเนียม บีตาแคโรทีน กรดโฟลิก และฟลาโวนอยด์เควอเซทิน  หอมหัวใหญ่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ลดอาการกระตุกของกล้มเนื้อ มีฤทธิ์มากในการขับสารพิษทั้งที่เป็นโลหะหนักและพยาธิ เควอเซทินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมาก

โคเลสเตอรอลและความดันเลือดสูง
หอมหัวใหญ่มีผลคล้ายกระเทียมในการลดโคเลสเตอรอลและความดันเลือด มีสารไซโคลอัลลิอิน ที่สามารถละลายลิ่มเลือดได้  ผลการศึกษากลุ่มคนกินมังสวิรัติในประเทศอินเดียที่กินกระเทียม 10 กรัมต่อสัปดาห์ และกินหอมหัวใหญ่ 200 กรัมต่อสัปดาห์ มีปริมาณโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์เฉลี่ย 172 และ 75 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ  ในขณะที่ค่าดังกล่าวในกลุ่มควบคุม (ไม่ได้กินกระเทียมและหอมหัวใหญ่) คือ 208 และ 109 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ  ส่วนการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การกินหอมหัวใหญ่สดวันละครึ่งหัวในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันเอชดีแอลในผู้ป่วยดังกล่าวจากร้อยละ 20 เป็น 30 มีผลลดระดับโคเลสเตอรอลในภาพรวม และเพิ่มอัตราส่วนระหว่างไขมันเอชดีแอล (ไขมันดี) ต่อไขมันแอลดีแอล (ไขมันเลว) อย่างน่าพอใจด้วย

ภูมิแพ้และหอบหืด
หอมหัวใหญ่มีความสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไลพอกซีจีเนสและไซโคลออกซีจีเนส ซึ่งสร้างสารพรอสตาแกลนดินและทรอมบอกเซนซึ่งเป็นสารก่อการอักเสบ เมื่อให้หนูตะเภากินสารสกัดแอลกอฮอล์ของหอมหัวใหญ่ 1 มิลลิลิตร พบว่าสามารถลดอาการหืดหอบจากการหดลองสูดดมสารก่อภูมิแพ้ได้  หอมหัวใหญ่มีเควอเซทิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฤทธิ์เชิงเภสัชวิทยาของมัน พบว่าเควอเซทินสามารถยับยั้งการปล่อยฮิสตามีนจากมาสต์เซลล์ และยับยั้งการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ เช่นลิวโคทรีนได้  เควอเซทินพบมากที่สุดในผิวชั้นต้นๆ ของหอมหัวใหญ่ และพบมากกว่าในหอมหัวใหญ่สีม่วงและหอมแดงแต่ฤทธิ์ป้องกันอาการหอบหืดและภูมิแพ้คาดว่ามาจากสารกลุ่มไอโซโอไซยาเนต

เบาหวาน
หอมหัวใหญ่แสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ในผลงานการศึกษาทางการแพทย์และทางคลินิกหลายชิ้นสารออกฤทธิ์ในหอมหัวใหญ่เชื่อว่าเป็นสารอัลลิลโพรพิลไดซัลไฟด์ (Allyl propy disuldhide หรือ APDS) และ มีฟลาโวนอยด์อื่นร่วมด้วย  หลักฐานจากการทดลองและสังเกตในคลินิกพบว่า APDS ลดระดับกลูโคสโดยแข่งกับอินซูลิน (ซึ่งเป็นไดซัลไฟด์เช่นกัน) ในการเข้าสู่จุดยับยั้งการทำงานโดยอินซูลิน (Insulin-inactivating sites) ในตับ ทำให้มีอินซูลินอิสระเพิ่มขึ้น  การกินหอมหัวใหญ่ 1-7 ออนซ์ (16 ออนซ์ประมาณครึ่งกิโลกรัม) มีผลลดปริมาณน้ำตาลในเลือดผลนี้พบทั้งในหอมหัวใหญ่ทั้งดิบและที่ต้มแล้ว

หอมหัวใหญ่กับภูมิคุ้มกัน
แคลเซียมมีการเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์เอนไซม์ที่ ที-เซลล์ (T-cells) ใช้ในการต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตแปลกปลอมและช่วยเม็ดเลือด ขาวในการทำลายและย่อยสลายไวรัส  ปกติแคลเซียมจะได้มาจากผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวอยู่มาก ไขมันอิ่มตัวมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอักเสบ (Proinflamatory) ซึ่งมีผลในเชิงลบกับระบบภูมิคุ้มกันการกินหอมหัวใหญ่จึงได้แคลเซียมโดยปราศจากไขมัน (ถ้าไม่กินเป็นหอมหัวใหญ่ชุบแป้งทอด)  หอมหัวใหญ่มีธาตุอาหารสำคัญอื่นๆ อีก ธาตุซีลีเนียม ที่พบมากในหอมใหญ่มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างแอนติบอดี ถ้าขาดธาตุนี้ร่างกายจะขาดความสามารถในการต้านการติดเชื้อที่เกิดขึ้นซ้ำซากได้ นอกจากนี้ ซีลีเนียมยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเอนไซม์กลูตาไทโอนเพอร์ออกซิเดส เอนไซม์นี้ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระที่จะก่อให้เกิดการอักเสบในระบบต่างๆ ของร่างกายอีกด้วย  หอมหัวใหญ่อุดมไปด้วยธาตุแมกนีเซียมซึ่งเป็นธาตุที่มักพบได้น้อยในอาหารประจำวัน มีความสำคัญในการสร้างคอมพลีเมนต์ ซึ่งมีความสำคัญในการทำลายเซลล์มะเร็งและกำจัดไวรัส ตัวอย่างของคอมพลีเมนต์ ได้แก่ อินเทอฟีรอน นอกจากนี้ หอมหัวใหญ่ยังมีธาตุแมกนีเซียมซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการสร้างพรอสตาแกลนดินและการควบคุมปริมาณฮิสตามีน  นอกจากนี้ หอมหัวใหญ่มีธาตุกำมะถัน ช่วยให้เอนไซม์ตับทำงานขับสารพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
ตำราอาหารโยคะบำบัดจากประเทศอินเดียกล่าวไว้ว่าในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องให้กินหอมหัวใหญ่วันละ 1 หัว เพื่อป้องกันพยาธิทั้งเซลล์เดียวและหลายเซลล์ อาจเติมในโยเกิร์ต สลัด ผักนึ่ง หรือในข้าวก็ได้ และกินนมแพะสีทองเพื่อป้องกันแบคทีเรีย ไวรัส เสริมฤทธิ์ต้านอักเสบและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

แหล่งผลิตหอมหัวใหญ่ในประเทศไทย
- อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ (สหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ฝาง )
- อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
- จังหวัดกาญจนบุรี
- จังหวัดเชียงราย
- จังหวัดนครสวรรค์

ข้อมูล :  นิตยสารหมอชาวบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น