วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ส้มสายน้ำผึ้ง เพื่อสุขภาพ


ประวัติและความเป็นมาของส้มในประเทศไทย

มีการระบุว่าได้มีการปลูกส้มมานานหลายพันปีมาแล้ว เชื่อกันว่า ส้มหลายชนิด (species) ที่อยู่ในสกุลซิทรัส เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิด หรือเป็นพืชท้องถิ่นดั้งเดิมในเขตร้อน และเขตกึ่งร้อนของทวีปเอเชียและกลุ่มเกาะมลายู ในประเทศไทยไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่ามีการปลูกส้มกันมาตั้งแต่เมื่อใด พบแต่เพียงรายงานซึ่งมีต้นฉบับเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๖ หรือกว่า ๓๐๐ ปีมาแล้ว ที่กล่าวถึงส้มชนิดต่างๆ ๓ ชนิด คือ ส้มโอ ส้มแก้ว และมะกรูด สำหรับส้มเขียวหวานนั้นไม่ทราบประวัติที่ชัดเจน มีข้อสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการเพาะเมล็ด และขยายพันธุ์จากส้มแก้ว หรือเกิดจากพันธุ์ที่ชาวจีนนำเข้ามาปลูกในภาคกลางเมื่อประมาณร้อยกว่าปีมาแล้ว ต่อมาจึงมีการนำไปกระจายปลูกในภาคอื่นๆ และเรียกกันว่า ส้มเขียวหวาน เพราะเมื่อผลส้มสุกหรือแก่จัดแล้ว ส่วนเปลือกยังคงมีสีเขียว แต่มีรสชาติหวาน เป็นลักษณะของส้มทั่วไปที่ปลูกในภาคกลาง หรือในพื้นที่ที่อุณหภูมิไม่เย็นจัด

ลักษณะทั่วไปของส้มเป็นอย่างไร

ส่วนต่างๆที่สำคัญของส้ม ได้แก่ ลำต้น กิ่งก้าน ใบและก้านใบ หนาม ดอก ผล เมล็ด และราก ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่ออธิบายลักษณะของส้มแต่ละชนิดแต่ละพันธุ์ และใช้จำแนกความแตกต่าง ตลอดจนใช้ประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์

๑. ลำต้น ส้มชนิดที่ปลูกกันโดยทั่วไปเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มขนาดกลางมีความสูงประมาณ ๔ - ๘ เมตร ส้มโอที่มีอายุมากอาจมีความสูงได้ถึง ๑๐ - ๑๕ เมตร ความสูงของต้นส้มจะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด ส้มมีทรงต้นโปร่ง มีการแตกกิ่งก้านแผ่เป็นพุ่ม รัศมีของทรงพุ่มประมาณ ๒ - ๕ เมตร มีใบ ตาข้าง ดอกและผลเกิดอยู่บนกิ่ง หนามจะอยู่ด้านข้างของตา การจัดเรียงตัวของใบส้ม (phyllotaxy) ทั่วไปมีค่าเท่ากับ ๓ / ๘

๒. ใบ ใบส้มจัดเป็นใบเดี่ยว แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกเรียกว่าแผ่นใบ หรือตัวใบ แผ่นใบมีรูปร่างกลมมน เรียวยาว รูปไข่ยาวหรือรูปโล่ ปลายใบแหลมหรือป้าน ขอบใบอาจเรียบหรือหยัก สีของใบมีตั้งแต่สีเขียวอมเหลืองถึงสีเขียวอมดำ ส่วนที่สองคือก้านใบ ซึ่งมีส่วนของก้านใบที่เรียกว่า หูใบ (wing) มีลักษณะเป็นปีก รูปทรงคล้ายรูปหัวใจ อาจเล็กแคบหรือมีขนาดใหญ่เกือบเท่าตัวใบ ลักษณะของแผ่นใบ สี ขนาด และหูใบ สามารถนำมาใช้จำแนกชนิดและพันธุ์ส้มได้ บนแผ่นใบมีต่อมน้ำมัน (oil gland) ขนาดเล็กหรือใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป น้ำมันส้มมีกลิ่นเฉพาะแตกต่างกันตามชนิดและสายพันธุ์

๓. ดอก ดอกส้มเกิดที่ปลายยอดอ่อนหรือที่มุมใบ อาจเกิดเป็นดอกเดี่ยว (solitary) หรือช่อดอก (inflorescence) เป็นดอกสมบูรณ์เพศ (perfect flower) อยู่บนฐานรองดอก (receptacle) ซึ่งเป็นส่วนของก้านดอก (peduncle) ส่วนของดอกประกอบด้วยชั้นต่างๆ ๔ วง เรียงจากวงนอกสุด คือ กลีบเลี้ยง (calyx หรือ sepal) กลีบดอก (corolla หรือ petal) เกสรตัวผู้ (androecium หรือ stamen) และเกสรตัวเมีย (gynaecium หรือ pistil) กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กและมีสีเขียวหรือสีเขียวอ่อน กลีบดอกมีจำนวน ๕ กลีบ มีสีขาว แต่อาจมีสีอมเขียวหรือมีสีม่วงแต้มในส้มบางชนิด ที่กลีบดอกมักมีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ เกสรตัวผู้มีจำนวน ๒๐ - ๔๐ อัน มีก้าน (filament) สีขาว ยาว ส่วนปลายเป็นอับเกสร (anther) สีเหลือง ภายในมีละอองเกสร (pollen) จำนวนมาก ชั้นในสุด คือ เกสรตัวเมีย ประกอบด้วย รังไข่ (ovary) รูปร่างกลม สีเขียว ตั้งอยู่บนจานซึ่งเป็นส่วนของต่อมน้ำหวาน ส่วนปลายของรังไข่เป็นก้านชูเกสรตัวเมีย (style) และที่รับละอองเกสร (stigma) เมื่อดอกส้มบานจะมีกลิ่นหอมมาก

๔. ผล ผลส้ม คือ ส่วนที่เจริญและพัฒนามาจากส่วนของรังไข่ เกิดขึ้นภายหลังจากการถ่ายละอองเกสร (pollination) โดยลมหรือแมลง และเกิดการปฏิสนธิ (fertilization) ผลส้มโดยทั่วไปมีกลีบผลอยู่จำนวน ๑๐ กลีบ อาจมีจำนวนกลีบมากหรือน้อยกว่าในแต่ละสายพันธุ์ กลีบเชื่อมติดกันเป็นวงกลมล้อมรอบแกนกลางของผล เมื่อส้มเริ่มติดผลและพัฒนาจนเป็นผลที่สมบูรณ์ส่วนของผนังงไข่ (ovary wall) จะพัฒนาเปลี่ยนไปเป็นส่วนหนึ่งของผล คือ ส่วนเปลือกชั้นนอกสุด ที่มีสีเขียวหรืออาจเปลี่ยนเป็นสีอื่นเมื่อสุก เปลือกส่วนกลางที่มีลักษณะนุ่ม มีสีขาว อาจเป็นชั้นที่บางมากเช่นที่พบในส้มเขียวหวาน และส่วนในสุดที่เป็นเยื่อหุ้มกลีบ ผนังด้านในของส่วนในสุดนี้จะแบ่งเซลล์และขยายตัวออกกลายเป็นถุง (juice sac) ทำหน้าที่เก็บสะสมน้ำ น้ำตาล และสารอาหารต่างๆ

๕. เมล็ด เมล็ดส้มมีการเจริญและพัฒนามาจากไข่ (oval) รูปร่างคล้ายหยดน้ำ ด้านแหลมเป็นด้านที่รากงอกออกมา และด้านตรงข้ามซึ่งมีลักษณะป้าน รูปร่าง ขนาดของเมล็ด และสีของด้านป้านสามารถนำมาใช้เป็นลักษณะในการจำแนกชนิดและพันธุ์ส้มได้ เมล็ดประกอบด้วยส่วนสำคัญต่างๆคือ เปลือกหุ้มเมล็ด (seed coat) ซึ่งมี ๒ ชั้น ชั้นนอกมีสีเหลืองฟางข้าว ส่วนชั้นในมีลักษณะเป็นเยื่อบางสีน้ำตาล ต้นอ่อนหรือที่เรียกว่า เอ็มบริโอ (embryo) คือ ส่วนที่จะเจริญพัฒนากลายเป็นต้น และส่วนที่สะสมอาหารซึ่งเรียกว่า ใบเลี้ยง (cotyledon)

๖. ราก เมื่อเมล็ดเริ่มงอก ส่วนของรากปฐมภูมิ (primary root) จะเจริญออกมาก่อน และมีการพัฒนากลายเป็นรากแก้ว (tap root) โดยปกติจะมีเพียงรากเดียว และมีการแตกแขนงออกไปเรียกว่า รากทุติยภูมิ (secondary root) รากที่มีขนาดใหญ่เรียกว่า ไพโอเนียร์รูต (pioneer root) และที่มีลักษณะเป็นรากขนาดเล็กเป็นกระจุก เจริญมาจากรากแก้วเรียกว่า รากฝอย (fibrous root) โดยทั่วไปรากส้มจะอยู่ในดินระดับค่อนข้างตื้นประมาณ ๕๐ เซนติเมตร รากจะทำหน้าที่หยั่งยึดลำต้นกับพื้นดิน ดูดแร่ธาตุอาหารและน้ำ

การจำแนกพืชกลุ่มส้มตามหลักพืชสวนมีอะไรบ้าง

นอกจากการใช้ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญในการจำแนกพืชสวนแล้ว การจำแนกความแตกต่างของส้มแต่ละชนิด โดยใช้ลักษณะ ขนาด รูปทรงผล ผิวเปลือก สี เนื้อ รสชาติ ความหนาของเปลือก ขนาดและจำนวนของเมล็ด ฯลฯ รวมถึงความสำคัญหรือคุณค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้สามารถแบ่งพืชกลุ่มส้มโดยเฉพาะส้มที่ปลูกออกเป็น ๔ กลุ่มคือ

๑. กลุ่มส้มติดเปลือก หรือกลุ่มส้มเกลี้ยง (oranges) เป็นกลุ่มส้มที่เชื่อกันว่า มีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียด้านที่ติดกับประเทศพม่าและประเทศจีน ปัจจุบันส้มในกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มส้มที่มีการปลูกมากที่สุดในโลก ประเทศที่มีการปลูกส้มกลุ่มนี้มาก คือ สหรัฐอเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา เม็กซิโก สเปน และออสเตรเลีย ผลผลิตส้มส่วนใหญ่ใช้เพื่อบริโภคสดหรือคั้นเป็นน้ำส้มคั้นเข้มข้น ผลพลอยได้จากส้มชนิดนี้คือ น้ำมันหอมระเหย (essential oil) และเพกทิน (pectin) ส้มในกลุ่มนี้ที่มีปลูกในประเทศไทยคือ ส้มเกลี้ยง และส้มตรา

๒. กลุ่มส้มเปลือกล่อน (mandarins) ถิ่นกำเนิดของส้มในกลุ่มนี้คาดว่าอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เป็นกลุ่มส้มที่ปลูกแพร่หลายในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย สเปน อิสราเอล และไทย ผลผลิตส่วนใหญ่นิยมใช้บริโภคสด เนื่องจากมีเปลือกบาง หลุดล่อนออกจากส่วนเนื้อได้ง่าย ผลอ่อนนุ่ม และมีรสหวาน ส้มกลุ่มนี้ที่มีปลูกในประเทศไทย ได้แก่ ส้มเขียวหวาน ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มแก้ว

๓. กลุ่มส้มโอ (pomeloes) และเกรปฟรุต (grapefruits) ส้มในกลุ่มนี้น่าจะมีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ประเทศที่ปลูกมากและปลูกเพื่อการค้า ได้แก่ ประเทศไทย จีน เวียดนาม มาเลเซีย และไต้หวัน

๔. กลุ่มมะนาวหรือส้มที่มีรสเปรี้ยว (common acid members) ส้มในกลุ่มนี้ได้แก่ ส้มที่เรียกกันว่า ส้มซิตรอน (citron) ซึ่งได้แก่ ส้มมือ มะนาวฝรั่งหรือเลมอน (lemon) และมะนาว (lime) ส้มในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย การใช้ประโยชน์จากส้มในกลุ่มนี้ ได้แก่ การทำน้ำคั้น (lemonade) การสกัดสารน้ำมันจากผิวเปลือก และสารเพกทิน (pectin) รวมทั้งการใช้เป็นไม้ประดับ ส้มบางชนิด เช่น ส้มมือ ในหลายประเทศใช้เป็นส่วนผสมของสมุนไพร


คุณค่าทางอาหารของส้มมีอะไรบ้าง

ส้มโดยเฉพาะส้มเขียวหวานเป็นผลไม้ที่คนไทยรู้จักกันดี เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีผลผลิตตลอดปี มีจำหน่ายในตลาดทั่วไป ราคาไม่แพงสำหรับผู้บริโภคทุกชนชั้น และมีคุณค่าทางอาหารสูง ผลของการวิเคราะห์สารอาหารจากส้มเขียวหวาน ๑๐๐ กรัม โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายจำนวนมาก กล่าวคือ

คาร์โบไฮเดรต ๙.๙๐ กรัม, โปรตีน ๐.๖๐ กรัม, ไขมัน ๐.๒๐ กรัม, แคลเซียม ๓๑.๐๐ มิลลิกรัม, เหล็ก ๐.๘๐ มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส ๑๘.๐๐ มิลลิกรัม, วิตามินเอ ๔,๐๐๐ หน่วยสากล, วิตามินบี ๑ ๐.๐๔ มิลลิกรัม, วิตามินบี ๒ ๐.๐๕ มิลลิกรัม, วิตามินซี ๑๘.๐๐ มิลลิกรัม, เส้นใย ๐.๐๒ กรัม, ความชื้น ๘๘.๗๐ กรัม, แคลอรี ๔๔ หน่วย

ดังนั้น ผลส้มเขียวหวานหนัก ๑๐๐ กรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักเฉลี่ยของผลส้มเพียง ๑ ผล จะประกอบด้วยสารอาหารที่สำคัญ คือ แคลเซียม ๓๑ มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส ๑๘ มิลลิกรัม วิตามินซี ๑๘ มิลลิกรัม วิตามินเอ ๔,๐๐๐ หน่วย จึงจัดว่าส้มเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพชนิดหนึ่งที่มีราคาไม่แพง และเหมาะสำหรับการบริโภคประจำวัน

งานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาวิเคราะห์ประโยชน์ของส้มในการชะลอริ้วรอยแห่งวัย พบว่า

- เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ร่างกายสังเคราะห์คอลลาเจนได้น้อยลง แต่ส้มมีคุณสมบัติช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน ทำให้สุขภาพผิวดี ลบเลือนริ้วรอยแห่งวัย และยังช่วยสร้างกระดูกอ่อนให้แข็งแรงด้วย

- เบต้าแคโรทีนในผลส้ม เป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งทำลายเซลล์ผิวหนังอันเป็นบ่อเกิดความชรา เบต้าแคโรทีนจึงช่วยชะลอความเสื่อม ทำให้ผิว เส้นผม และเล็บมีสุขภาพดี

- ส้มช่วยให้ผนังหลอดเลือดและเส้นเลือดฝอยแข็งแรง ช่วยลดอาการเส้นเลือดฝอยแตกตามใบหน้าและเรียวขา

- น้ำส้มคั้นช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน และทำให้ร่างกายสดชื่น

- เปลือกส้มมีน้ำมันหอมระเหย ทำให้ร่างกายผ่อนคลายยามสูดดม

ส้มสายน้ำผึ้ง





ส้มสายน้ำผึ้ง หรือส้มโชกุน หรือ ส้มเพชรยะลา เป็นพันธุ์ส้มในกลุ่มส้มเขียวหวานชนิดหนึ่ง ที่ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะผลส้มนี้มีคุณภาพและรสชาติที่ดีกว่าส้มเขียวหวานชนิดอื่นๆ ในหลายๆ ด้าน เนื้อแน่น สีส้นสวนงาม ชานมีลักษณะนิ่ม มีน้ำส้มในปริมาณมาก รสชาติหวานแหลม อมเปรี้ยวเล็กน้อย


ลักษณะประจำพันธุ์ของส้มสายน้ำผึ้ง ทรงพุ่ม ส้มสายน้ำผึ้งมีการเจริญได้ดีพอๆ กับส้มเขียวหวาน โดยจะมีทรงพุ่มแน่นกว่าส้มเขียวหวาน ลักษณะกิ่งและใบจะตั้งขึ้น (erect form) ในขณะที่ส้มเขียวหวานใบจะตก หรือห้อยลงมา (weeping form and willow leaf)

ใบ ใบของส้มสายน้ำผึ้งเมื่อเทียบกับส้มเขียวหวาน จะมีขนาดเล็กและมีสีเขียวเข้มมากกว่า นอกจากนี้ใบยังมีกลิ่นหอมคล้ายส้มจีน และส้มพองแกน ผลส้มสายน้ำผึ้งมีลักษณะผลคล้ายส้มเขียวหวานมาก ขณะที่ผลยังอ่อนจะมีสีคล้ายส้มเขียวหวาน เมื่อแก่จัดผิวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดง ผกเว้นผลส้มที่ได้จากภาคใต้จะมีสีผิวหมือนกันส้มเขียวหวาน ปอกเปลือกง่าย เปลือกมีกลิ่นหอมคล้ายส้มจีน หรือส้มพองแกน ส้มพันธุ์นี้มีช่วงเวลาการเก็บเกี่ยว 8-8 เดือนครึ่ง ในการปลูกจากกิ่งตอนจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในปีที่ 3

การเตรียมพื้นที่ปลูก

1. การเตรียมพื้นที่

การเลือกต้นพันธุ์

การปลูกต้นส้มในปัจจุบันนิยมใช้ 2 วิธีคือ การปลูกจากกิ่งตอนและใช้วิธีการติดตากับต้นตอ การปลูกจากกิ่งตอน อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องโรคที่ติดมากับต้นพันธุ์ ต้นโทรม อายุสั้น ผลร่วง ผลด้อยคุณภาพ ดังนั้นในการเลือกต้นพันธุ์ ควรใช้ความพิถีพิถันในการเลือกโดยซื้อต้นพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้


ต้นส้มที่เจริญจากกิ่งตอน

อีกทางเลือกหนี่งคือการใช้ต้นติดตาโดยนำตาปลอดโรคมาจากต้นที่แข็งแรง เจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง สม่ำเสมอนำมาติดตาบนต้นตอที่ทนทางต่อโรครากเน่าโคนเน่า ต้นตอที่นิยมใช้มี 3 ชนิดคือ คลีโอพัตรา ทรอยเยอร์ และ สวิงเกิล แต่ละชนิดมึคุณสมบัติแตกต่างกันออกไปควรเลือกใช้ต้นตอให้เหมาะกับพื้นที่ ดังนี้

1. ต้นตอคลีโอพัตรา ให้ต้นใหญ่ ผลขนาดเล็ก คุณภาพผลสูง โตช้าในระยะแรก ทนทานต่อเกลือได้ดี ทนโรคทริสเตซ่าและความหนาว ได้ผลดีกับสภาพดินเหนียวภาคกลางแต่อาจอ่อนแอต่อโรคโคนแน่าและรากเน่า ปรับตัวได้ดีกับดินหลายประเภท และต้องการน้ำมาก

2. ต้นตอทรอยเยอร์ ให้ต้นขนาดมาตรฐาน ผลผลิตสูง ผลใหญ่ ผลมีคุณภาพดี ทนทานต่อโรคโคนเน่าและทริสเตซา แต่ไม่ทนต่อโรคกรีนนิง ไม่ทนดินเค็ม อ่อนแอต่อไส้เดือนฝอย ทนหนาวได้ปานกลาง อ่อนแอต่อเอ็กโซคอร์ทิส ปรับตัวเข้ากับชนิดของดินได้หลายประเภทยกเว้น ดินด่าง ดินเค็มและดินเหนียว

3. ทนต่อโรครากเน่าโคนเน่า ไส้เดิอนฝอย ทนเค็มได้ระดับดี ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี ทนสภาพดินน้ำขังได้ดี เป็นต้นตอที่ดีของส้มหลายชนิด แต่อาจจะมีปัญหาการเข้ากันได้ไม่ดีกับส้มเขียวหวานบางชนิด เช่น อิมพีเรียล ไม่ชอบดินด่าง

ขนาดของต้นติดตาโตได้มาตรฐานพร้อมลงปลูกในแปลง คือ มีขนาดเส้นรอบวงที่โคนต้นไม่ต่ำกว่า 1.50 เซนติเมตร และมีความสูงจากโคนต้นถึงเรือนยอดไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร


ขั้นตอนการปลูก


1. วัดระยะปลูกและกำหนดจุดปลูก โดยแถวปลูกควรอยู่บริเวณกึ่งกลางแปลงแต่ละแปลง

2. ขุดหลุมขนาด 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกกับดินที่ขุดขึ้นมา อัตราต้นละ 10 กิโลกรัม พร้อมกับปุ๋ยรอกฟอตเฟต 0.5 กิโลกรัม และปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ประมาณ 10 กรัม

3. แหวกดินทำหลุมให้มีขนาดโดกว่าถุงหรือกระถางที่เลี้ยงต้นพันธุ์

4. ฉีกถุงออก โดยก่อนฉีกถุงให้ใช้มือบีบดินในถุงให้แยกออกจากกัน

5. เขย่าวัสดุปลูกที่ติดอยู่กับรากออกให้หมด ใช้กรรไกรตัดรากแก้วส่วนที่ขดงอออก พร้อมทั้งตัดส่วนยอดและใบออกบ้าง เพื่อให้เกิดการสมดุลย์กับรากที่เหลือ

6. วางต้นพันธุ์ลงในหลุม จัดรากฝอยที่มีอยู่เป็นชั้นๆ แล้วแผ่รากในแต่ละชั้นออกรอบข้าง

7. ใช้ดินกลบรากไล่ขึ้นมาเป็นชั้น โดยให้รากฝอยชั้นบนสุดอยู่ต่ำกว่าระดับดินบนประมาณ 1 เซนติเมตร

8. ใช้ดินผสมปุ๋ยหมักอัตราส่วน 1 : 1 กลบโคนเป็นรูปกระทะคว่ำกว้างประมาณ 1 เมตร และสูงประมาณ 20 เซนติเมตร

9. ผูกต้นติดกับหลักป้องกันการโยกคลอนแล้วรดน้ำให้ชุ่ม


การเก็บเกี่ยวผลส้ม

การเก็บเกี่ยวมี 2 วิธีคือ ใช้มือกับส้มที่มีตำหนิ หรือในช่วงเร่งเก็บเกี่ยว และใช้กรรไกรตัด

กรรไกรมี 2 ชนิดคือ

-กรรไกรด้ามสั้น

-กรรไกรด้ามยาว กรรไกรด้ามสั้นใช้สำหรับ เก็บส้มที่อยู่ในระดับต่ำ มี 2 แบบ ดังภาพ


กรรไกรด้ามสั้นทั้ง 2 แบบ

ส้มที่อยู่สูงขั้นไปจะใช้กรรไกรด้ามยาวตัด แล้วส่งให้คนงานอีกคนรับหรือวางกับพื้น หรือใช้บันไดขนาดเล็ก ถ้าส้มอยู่สูงมากๆ จะใช้บันไดร่วมกันกรรไกรด้ามยาว

หลังจากตัดจากต้นแล้วจะตัดขั้วครั้งที่ 2 เพื่อป้องกันไม่ให้ส้มเกิดบาดแผลในระหว่างขนส่ง


วิธีการวางจำหน่าย

- กองรูปปิรามิดมีพลาสติกคลุม กองไม่เป็นระเบียบ

- ส้มในกล่อง ส้มในถุงตาข่าย

- การวางจำหน่ายนั้นทำได้หลากหลายรูปแบบ

1.กองรูปปิรามิดมีพลาสติกคลุม

2.วางกองอย่างไม่มีระเบียบ

3.ใส่กล่อง เปิดฝากล่องให้ลูกค้าเห็นส้มที่บรรจุอยู่ภายใน

4.วางจำหน่ายในตะกร้า ผู้จำหน่ายบางรายมีการนำหนังสือพิมพ์หรือผ้าวางรองก้นตะกร้า เพื่อป้องกันไม่ให้ส้มเสียหายเนื่องจากเหลี่ยม หรือมุมของตะกร้า

5.ใส่ถุงตาข่าย

การจำหน่ายส้มนอกฤดูจะได้ราดาดี เมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นๆ ส้มจัดเป็นผลไม้ที่มีราคาสูง ส้มวางจำหน่ายได้ประมาณ 7-15 วัน ส้มที่เกิดการเสียหายจะทิ้งไว้ในตะกร้าหรือถึงขยะบริเวณที่จำหน่ายส้ม โดยจะเก็บไปทิ้งทุกวัน ในกรณีที่ส้มขายไม่หมดก็จะเก็บไว้ที่แผงจำหน่าย ไม่มีการเคลื่อนย้ายไปบริเวณอื่น

ข้อมูล:http : //www.phtnet.org

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หอมหัวใหญ่

หอมหัวใหญ่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ลดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ มีฤทธิ์มากในการขับสารพิษทั้งที่เป็นโลหะหนักและพยาธิ  หอมหัวใหญ่ (Allium cepa) เป็นพืชในตระกูลเดียวกับกระเทียม อุดมไปด้วยธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน ซีลีเนียม บีตาแคโรทีน กรดโฟลิก และฟลาโวนอยด์เควอเซทิน  หอมหัวใหญ่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ลดอาการกระตุกของกล้มเนื้อ มีฤทธิ์มากในการขับสารพิษทั้งที่เป็นโลหะหนักและพยาธิ เควอเซทินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมาก

โคเลสเตอรอลและความดันเลือดสูง
หอมหัวใหญ่มีผลคล้ายกระเทียมในการลดโคเลสเตอรอลและความดันเลือด มีสารไซโคลอัลลิอิน ที่สามารถละลายลิ่มเลือดได้  ผลการศึกษากลุ่มคนกินมังสวิรัติในประเทศอินเดียที่กินกระเทียม 10 กรัมต่อสัปดาห์ และกินหอมหัวใหญ่ 200 กรัมต่อสัปดาห์ มีปริมาณโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์เฉลี่ย 172 และ 75 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ  ในขณะที่ค่าดังกล่าวในกลุ่มควบคุม (ไม่ได้กินกระเทียมและหอมหัวใหญ่) คือ 208 และ 109 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ  ส่วนการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การกินหอมหัวใหญ่สดวันละครึ่งหัวในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันเอชดีแอลในผู้ป่วยดังกล่าวจากร้อยละ 20 เป็น 30 มีผลลดระดับโคเลสเตอรอลในภาพรวม และเพิ่มอัตราส่วนระหว่างไขมันเอชดีแอล (ไขมันดี) ต่อไขมันแอลดีแอล (ไขมันเลว) อย่างน่าพอใจด้วย

ภูมิแพ้และหอบหืด
หอมหัวใหญ่มีความสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไลพอกซีจีเนสและไซโคลออกซีจีเนส ซึ่งสร้างสารพรอสตาแกลนดินและทรอมบอกเซนซึ่งเป็นสารก่อการอักเสบ เมื่อให้หนูตะเภากินสารสกัดแอลกอฮอล์ของหอมหัวใหญ่ 1 มิลลิลิตร พบว่าสามารถลดอาการหืดหอบจากการหดลองสูดดมสารก่อภูมิแพ้ได้  หอมหัวใหญ่มีเควอเซทิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฤทธิ์เชิงเภสัชวิทยาของมัน พบว่าเควอเซทินสามารถยับยั้งการปล่อยฮิสตามีนจากมาสต์เซลล์ และยับยั้งการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ เช่นลิวโคทรีนได้  เควอเซทินพบมากที่สุดในผิวชั้นต้นๆ ของหอมหัวใหญ่ และพบมากกว่าในหอมหัวใหญ่สีม่วงและหอมแดงแต่ฤทธิ์ป้องกันอาการหอบหืดและภูมิแพ้คาดว่ามาจากสารกลุ่มไอโซโอไซยาเนต

เบาหวาน
หอมหัวใหญ่แสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ในผลงานการศึกษาทางการแพทย์และทางคลินิกหลายชิ้นสารออกฤทธิ์ในหอมหัวใหญ่เชื่อว่าเป็นสารอัลลิลโพรพิลไดซัลไฟด์ (Allyl propy disuldhide หรือ APDS) และ มีฟลาโวนอยด์อื่นร่วมด้วย  หลักฐานจากการทดลองและสังเกตในคลินิกพบว่า APDS ลดระดับกลูโคสโดยแข่งกับอินซูลิน (ซึ่งเป็นไดซัลไฟด์เช่นกัน) ในการเข้าสู่จุดยับยั้งการทำงานโดยอินซูลิน (Insulin-inactivating sites) ในตับ ทำให้มีอินซูลินอิสระเพิ่มขึ้น  การกินหอมหัวใหญ่ 1-7 ออนซ์ (16 ออนซ์ประมาณครึ่งกิโลกรัม) มีผลลดปริมาณน้ำตาลในเลือดผลนี้พบทั้งในหอมหัวใหญ่ทั้งดิบและที่ต้มแล้ว

หอมหัวใหญ่กับภูมิคุ้มกัน
แคลเซียมมีการเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์เอนไซม์ที่ ที-เซลล์ (T-cells) ใช้ในการต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตแปลกปลอมและช่วยเม็ดเลือด ขาวในการทำลายและย่อยสลายไวรัส  ปกติแคลเซียมจะได้มาจากผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวอยู่มาก ไขมันอิ่มตัวมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอักเสบ (Proinflamatory) ซึ่งมีผลในเชิงลบกับระบบภูมิคุ้มกันการกินหอมหัวใหญ่จึงได้แคลเซียมโดยปราศจากไขมัน (ถ้าไม่กินเป็นหอมหัวใหญ่ชุบแป้งทอด)  หอมหัวใหญ่มีธาตุอาหารสำคัญอื่นๆ อีก ธาตุซีลีเนียม ที่พบมากในหอมใหญ่มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างแอนติบอดี ถ้าขาดธาตุนี้ร่างกายจะขาดความสามารถในการต้านการติดเชื้อที่เกิดขึ้นซ้ำซากได้ นอกจากนี้ ซีลีเนียมยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเอนไซม์กลูตาไทโอนเพอร์ออกซิเดส เอนไซม์นี้ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระที่จะก่อให้เกิดการอักเสบในระบบต่างๆ ของร่างกายอีกด้วย  หอมหัวใหญ่อุดมไปด้วยธาตุแมกนีเซียมซึ่งเป็นธาตุที่มักพบได้น้อยในอาหารประจำวัน มีความสำคัญในการสร้างคอมพลีเมนต์ ซึ่งมีความสำคัญในการทำลายเซลล์มะเร็งและกำจัดไวรัส ตัวอย่างของคอมพลีเมนต์ ได้แก่ อินเทอฟีรอน นอกจากนี้ หอมหัวใหญ่ยังมีธาตุแมกนีเซียมซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการสร้างพรอสตาแกลนดินและการควบคุมปริมาณฮิสตามีน  นอกจากนี้ หอมหัวใหญ่มีธาตุกำมะถัน ช่วยให้เอนไซม์ตับทำงานขับสารพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
ตำราอาหารโยคะบำบัดจากประเทศอินเดียกล่าวไว้ว่าในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องให้กินหอมหัวใหญ่วันละ 1 หัว เพื่อป้องกันพยาธิทั้งเซลล์เดียวและหลายเซลล์ อาจเติมในโยเกิร์ต สลัด ผักนึ่ง หรือในข้าวก็ได้ และกินนมแพะสีทองเพื่อป้องกันแบคทีเรีย ไวรัส เสริมฤทธิ์ต้านอักเสบและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

แหล่งผลิตหอมหัวใหญ่ในประเทศไทย
- อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ (สหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ฝาง )
- อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
- จังหวัดกาญจนบุรี
- จังหวัดเชียงราย
- จังหวัดนครสวรรค์

ข้อมูล :  นิตยสารหมอชาวบ้าน